News

นักลงทุนสัมพันธ์

 

GAME CHANGER PART II วีรสิทธิ์ "ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี" ต่อยอดยางครบวงจร

Backมิถุนายน 01, 2562

ท่ามกลางวิกฤตราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยพุ่งสูงสุดช่วงปี 2554 โดยราคาซื้อขายยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ในตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ปรับขึ้นทะลุ 180 บาทต่อ กก. ก่อนจะดิ่งลงเหลือ กก.ละ 35 บาท และล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2562 ราคาประมูลซื้อขายยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ในตลาดกลางยางพาราสงขลาอยู่ที่ 53 บาท/กก. ยางแผ่นดิบอยู่ในระดับ 50-51 บาท/กก. ถือเป็นช่วงขาลงนานนับ 10 ปี ผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการซบเซาของอุตสาหกรรมยางรถยนต์

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมและได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ “บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)” หรือ STA ผู้ประกอบธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปสัญชาติไทย สามารถนำพาองค์กรฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ รักษาแชมป์ผู้ส่งออกยางพาราเบอร์ 1 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น กว่า 2.86 ล้านตัน/ปี จากจำนวนโรงงานรวม 36 โรงงาน ซึ่งกระจายอยู่ทั้งในภาคใต้ เหนือ อีสาน ฯลฯ ควบคู่กับรั้งตำแหน่งท็อป 5 ผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางของโลกไว้ได้

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรีขยายฐานธุรกิจทั้งสวนยางพาราครบวงจร ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป ธุรกิจจัดจำหน่าย และธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในเครือกว่า 30 บริษัทต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายรายได้เติบโตก้าวกระโดด มีเครือข่ายธุรกิจทั้งในประเทศ ต่างประเทศ โดยปี 2561 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 7.35 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 2.06 พันล้านบาท

โดยมีทายาททางธุรกิจซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อย่าง “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” หรือ “จูเนียร์” กรรมการบริหารและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.ศรีตรังฯ ลูกไม้ใต้ต้นของ “ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กับน้องชายอีกสองคน คือ “วิชญ์พล สินเจริญกุล” และ “วิทย์นาถ สินเจริญกุล” เป็นทัพหน้า นำพาองค์กรฝ่าวิกฤตดิสรัปชั่น ท่ามกลางกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็ว และการแข่งขันในระดับรุนแรงของตลาดยางโลก

เป็น Gen 2 ที่จะรับไม้ต่อจาก Gen 1 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง บุกเบิกหลากหลายธุรกิจในวงการค้าและวงการอุตสาหกรรมยางพารา ทำให้ บมจ.ศรีตรังฯก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศและในระดับโลก ในช่วงที่ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติ ถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในเชิงไลฟสไตล์ ฯลฯ ถูกวางวิสัยทัศน์ต่อยอดการเติบโตขยายฐาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับองค์กรแห่งนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ บมจ.ศรีตรังฯโตก้าวกระโดดได้อีกครั้ง แม้รูปแบบ วิธีการ รวมทั้งเทคโนโลยีที่นำมาใช้จะแตกต่างกัน

“วีรสิทธิ์” ผันตัวจากนายธนาคารเข้ารับไม้ต่อในธุรกิจศรีตรังฯ เมื่อปี 2553 ด้วยพื้นฐานการศึกษาปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยรีดดิง (The University of Reading) ประเทศอังกฤษ ปริญญาโทบริหารธุรกิจสาขาการเงินและการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เทคโนโลยีดิจิทัลอัพเกรดธุรกิจยาง

“วีรสิทธิ์” เล่าถึงมุมมองการทำงานธุรกิจของศรีตรังฯว่า แม้ธุรกิจส่งออกยางพารายังเป็นธุรกิจเดิม แต่เมื่อโลกเปลี่ยน การบริหารจัดการธุรกิจยางพาราทั้งระบบเปลี่ยนไปจากอดีตที่ผ่านมา แม้โอกาสทางธุรกิจยังเปิดกว้างแต่ถือเป็นความท้าทาย ประกอบกับธุรกิจศรีตรังฯส่วนหนึ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น จึงต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยียุคใหม่เข้ามาปรับใช้

อย่างไรก็ตาม เราพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยการปรับใหญ่เน้นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานระดับการบริหาร หรือในภาคการผลิต เช่น ในภาคการผลิตนำระบบออโตเมชั่น ระบบสมองกล มาใช้เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น การนำระบบโรโบติก หุ่นยนต์มาช่วยคนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน เป็นต้น

หรือการจัดทำแอปพลิเคชั่น “ศรีตรังเฟรนด์” เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารโดยตรงกับพี่น้องชาวสวนยาง ช่วยให้เกิดการมอนิเตอริ่ง ลดระยะเวลา อำนวยความสะดวก รวมทั้งสามารถอัพเดตข้อมูลข่าวสารให้ซัพพลายเออร์รู้สถานการณ์ แนวโน้มในตลาดยางและอุตสาหกรรมยางพาราโลกได้รวดเร็ว ทันการณ์

นอกเหนือจากเรื่องนี้เราจะเน้นการ “ทบทวนต้นทุนในการประกอบธุรกิจ” เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุน ไม่เน้นการลงทุนมากเกินไปอย่างหวือหวา แต่จะลงทุนโดยวางแผนให้อยู่ภายในงบประมาณที่ตั้งไว้อย่างรอบคอบ เกิดประโยชน์กับบริษัทมากที่สุด

R&D สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ยาง

“วีรสิทธิ์” บอกว่า ความท้าทายของธุรกิจส่งออกยางไม่เพียงเกิดจากกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หากเปรียบเทียบสภาพตลาดยุคสมัยก่อนจะเป็นการขายให้ลูกค้ากลุ่มผู้ใช้ยางเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ ฯลฯ แต่ตลาดในทุกวันนี้เปลี่ยนมาเป็น “จีน” เป็นผู้ซื้อหลักในตลาดยางโลก ขณะที่ราคายางก็เปลี่ยนแปลงไปตามหลักดีมานด์และซัพพลายในแต่ละปี แต่ละช่วงเวลา ซึ่งหลักการมองและวิเคราะห์ราคายางยังต้องดูแบบเป็นปีต่อปี ยกตัวอย่างเช่น ระดับราคายางได้เริ่มปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน (2018) มาอยู่ที่ กก.ละ 55-56 บาท จนถึงปัจจุบัน ถือว่าดีขึ้นจากเมื่อปี 2017 ที่ราคายางค่อนข้างตกต่ำ ตลาดในภาพรวมซบเซาอย่างมาก

ด้วยเหตุที่ตลาดจีนบูมและใช้ยางจำนวนมาก ศรีตรังฯจึงเดินหน้าเรื่องการรักษาคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทำให้จุดนี้กลายเป็นจุดแข็งของธุรกิจ นอกจากนี้ได้เพิ่มการบริการหลังการขายให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นสไตล์การบริหารของนักธุรกิจยุคใหม่ โดยเน้นการไปมาหาสู่กัน การแลกเปลี่ยนและร่วมกันกับลูกค้าในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง หรือ R&D แตกต่างไปจากการทำธุรกิจในสมัยก่อนอาจไม่มีการทำ R&D

“สมัยนี้ศรีตรังฯมีการทำ R&D ร่วมกับลูกค้าเลย โดยมุ่งมองไปข้างหน้าว่าลูกค้าต้องการอะไร ก็จะเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ และพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า อีกด้านหนึ่งเราจะเน้นเรื่องสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพราะมองว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดควบคู่กันไปด้วย”

กางสเต็ปขึ้นท็อป 3 ตลาดถุงมือยางโลก

ที่ผ่านมาเราเป็นผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติเบอร์ 1 ในโลก แต่อนาคตนอกจากจะต้องรักษาความเป็นเบอร์ 1 แล้ว เรายังตั้งเป้าจะ “เพิ่มสัดส่วน” การผลิตและจำหน่ายถุงมือยางให้มากขึ้น เพราะถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและทำกำไรได้ดี แม้ว่าปัจจุบันศรีตรังฯจะไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการนี้ แต่ก็มีเป้าหมายชัดเจนที่จะขยับอันดับจากท็อป 5 ไปสู่ท็อป 3 ของโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย

สำหรับแผนการลงทุนเพื่อก้าวไปสู่อันดับ 3 ของผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางโลกนั้น ศรีตรังฯได้วางแผนการลงทุนไว้เป็นสเต็ป ๆ โดยเริ่มจากส่วนแรกที่ขยายชัดเจนอย่างก้าวกระโดด เห็นชัดเจนในปี 2018 ที่ผ่านมา คือผลสำเร็จจากควบรวมกับบริษัท ไทยกอง จำกัด (มหาชน) หรือ “TK” ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว โดยบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมมีชื่อว่า “บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” หรือ “STGT” ส่งผลให้กำลังการผลิตถุงมือยางเพิ่มจาก 17,000 ล้านชิ้น เป็น 21,000 ล้านชิ้น โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มมา 4,000 ล้านชิ้นนั้นเป็นของบริษัทไทยกอง

และถึงสิ้นปี 2562 ส่วนขยายโรงงานที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ตรัง จะแล้วเสร็จ จะเห็นภาพการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 ล้านชิ้นโดยประมาณ จากการขยายกำลังการผลิตเต็มที่ จากนั้นการผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นไปเป็น 29,700 ล้านชิ้น ในปี 2563

ตั้งเป้าขยายลงทุน-เจาะตลาดใหม่

อย่างไรก็ตาม หลังจากขยายการลงทุนโรงงานการผลิตถุงมือ 2 แห่งดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาหาลู่ทางในการลงทุนเฟสใหม่ เรียกว่ามีแผนการขยายสาขาอยู่ในไพรพ์ไลน์อย่างต่อเนื่อง และพร้อมทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปกับการขยายกำลังการผลิตและการตลาดถุงมือยาง

ส่วนฐานลูกค้าของศรีตรังฯในปัจจุบันได้ขยายออกไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก เช่น ตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นตลาดใหญ่ นอกจากนี้ได้ขยายไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพกำลังซื้อสูง เช่น ตลาดจีน แอฟริกา และอินเดีย ซึ่งมีโอกาสจะใช้ถุงมือเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

2 เจเนอเรชั่นร่วมผลักดันภารกิจ

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ในปีนี้ของ บมจ.ศรีตรังฯ แม้ตัวเลขที่ชัดเจนจะยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ด้วยราคายางพาราโดยเฉลี่ยที่ยังทรงตัวเหนือ กก.ละ 56 บาท ทำให้คาดการณ์ว่าแนวโน้มค่อนข้างสดใส เป็นไปตามกลไกตลาด ดีมานด์และซัพพลายมีการปรับตัวดีขึ้น ทั้งความต้องการใช้ยางในตลาดจีนและกำลังการผลิตยาง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อยอดขาย รายได้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี เป็นช่วงการชะลอตัวของตลาดตามซีซั่น บวกกับยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลก ว่าปัญหาสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐ จะยืดเยื้อมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ความชัดเจนจากกรณีที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) แล้วจะเป็นอย่างไร ตลอดจนปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ และต้องจับตาอย่างใกล้ชิด สำหรับศรีตรังฯซึ่งเน้นการทำตลาดส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 90% ยกตัวอย่างหากเทียบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยกับคู่แข่งเรา คือมาเลเซีย แล้วมีความแตกต่างกันมาก ย่อมเป็นอุปสรรคในการแข่งขัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “วีรสิทธิ์” ย้ำว่า อาศัยหลักคิดในการทำงานร่วมกัน คือการผสมผสานไอเดีย นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างเจเนอเรชั่นก่อนกับเจเนอเรชั่นปัจจุบัน เป้าหมายหลักเพื่อให้ บมจ.ศรีตรังฯซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ไทยและสิงคโปร์เติบโตได้อย่างยั่งยืนในวันข้างหน้า

ที่มา: https://www.prachachat.net/breaking-news/news-333325