News

นักลงทุนสัมพันธ์

 

STA วางแผนเพิ่มสัดส่วนขายยาง EUDR เพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น ชูความพร้อมระบบตรวจสอบย้อนกลับ พร้อมรับดีมานด์พุ่ง

Backมิถุนายน 05, 2567

บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA วางแผนเร่งเพิ่มสัดส่วนการขายยาง EUDR ต่อเดือนเป็น 50% ภายในสิ้นปีนี้ ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น หลังมีดีมานด์ต่อเนื่องจากการที่ยุโรปเตรียมบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ณ สิ้นปีนี้ ชูความพร้อมด้านระบบตรวจสอบย้อนกลับผ่านแอปพลิเคชัน Sri Trang Friends และ Sri Trang Friends Station ชี้กำหนดราคาขายได้สูงกว่ายางทั่วไปและเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางไทยที่มีความพร้อม

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เริ่มจัดส่งออเดอร์ยาง EUDR ซึ่งเป็นยางธรรมชาติที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาของผลผลิต เพื่อแสดงว่าไม่ได้มาจากพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและไม่ได้อยู่ในพื้นที่บุกรุกป่า ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าจากยุโรปและเอเชียติดต่อสั่งซื้อยาง EUDR มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่สหภาพยุโรป (อียู) จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้ ล่าสุด บริษัทฯ จึงวางแผนเพิ่มปริมาณการขายยาง EUDR โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขายยาง EUDR ต่อเดือนเป็น 50% ภายในสิ้นปี 2567 และเพิ่มสัดส่วนเป็น 80% ในปี 2568 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนขายยาง EUDR ประมาณ 10% ของปริมาณการขายยางธรรมชาติในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าปริมาณขายยางธรรมชาติอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 125,000 ตัน ในปี 2567

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลกและมีความพร้อมรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลผลิตตามกฎหมาย EUDR ขณะที่บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมขายยาง EUDR เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของไทย เนื่องจากได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Sri Trang Friends” (ศรีตรังเพื่อนชาวสวน) และ “Sri Trang Friends Station” (ศรีตรังเฟรนด์ส สเตชัน) เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลผ่านระบบ GPS และได้ร่วมกับเกษตรกร-ผู้ค้ายางจัดทำฐานข้อมูลที่ดินในการปลูกยาง รวมถึงได้เปิดตัว “ยางมีพิกัด (GPS)” ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ เพื่อแสดงความพร้อมตอบรับข้อกำหนด EUDR จากยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคตไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

บริษัทฯ มองว่าการขายยาง EUDR เป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางของไทย และบริษัทฯ ที่มีความพร้อมด้านระบบตรวจสอบย้อนกลับบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่ผลการดำเนินงานและเพิ่มอัตราการทำกำไรขั้นต้นของบริษัทฯ เนื่องจากมีดีมานด์ค่อนข้างมากและสามารถขายได้ในราคาสูงกว่ายางปกติ และไม่ต้องอ้างอิงกับราคายาง SICOM (ราคาตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าประเทศสิงคโปร์) แต่อิงกับราคายางพาราในประเทศไทยแทน

ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยาง EUDR คาดว่าจะมีความต้องการยางธรรมชาติจากยุโรปทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 4 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของดีมานด์ทั่วโลก โดยปัจจุบันประเทศที่มีความพร้อมผลิตยาง EUDR คาดว่าจะมีเพียง 3 ราย ได้แก่ ประเทศไทย, ไอวอรี่โคสต์และอินโดนีเซียบางส่วน ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็นราว 30% ของซัพพลายโลกโดยรวม ในขณะที่ไอวอรี่โคสต์และอินโดนีเซีย คาดการณ์ว่าจะสามารถซัพพลายยาง EUDR ได้ราว 7% ของซัพพลายโลก สะท้อนให้เห็นว่าซัพพลายยาง EUDR ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ