สรุปการวิเคราะห์ความอ่อนไหว

นักลงทุนสัมพันธ์

 

บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) มีการติดตามความผันผวนจากสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และมีการวิเคราะห์ความอ่อนไหวทางธุรกิจ (Sensitivity Analysis) โดยพิจารณาจากปัจจัยภายนอกทั้งทางด้านการเงิน (Finance) และไม่ใช่ด้านการเงิน(Non-Finance) ผ่านแบบจำลอง เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงของค่าตัวแปรหรือองค์ประกอบในการวิเคราะห์ และกำหนดแผนกลยุทธ์ในการรับมือโดยให้มีการติดตามและทบทวนสถานการณ์และปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ

การวิเคราะห์ความอ่อนไหวจากปัจจัยทางด้านการเงิน (Financial Factor)

ปัจจัยทางด้านการเงินที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯและผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ได้แก่ ปัจจัยด้านความผันผวนของราคาวัตถุดิบยางในกระบวนการผลิต โดยจากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวด้วยแบบจำลอง พบว่า หากอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบยางมากกว่าการปรับตัวขึ้นของราคาขายผลผลิตอย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานเกินระดับความเสี่ยงที่บริษัทฯยอมรับได้ (Risk Appetite) นำไปสู่ความจำเป็นต่อการเพิ่มปริมาณการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนภายนอก แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ทิศทางความผันผวนของราคาวัตถุดิบอย่างอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการรับมืออย่างทันกาล ผ่านการร่วมกันวางแผนเพิ่ม-ลด ปริมาณการซื้อวัตถุดิบ การผลิต และการขาย ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมและบรรลุเป้าหมายในการสร้างผลประกอบการที่ดีของบริษัทฯ

การวิเคราะห์ความอ่อนไหวจากกปัจจัยที่ไม่ใช่ด้านการเงิน (Non-Financial Factor)

จากสถานการณ์โรคระบาดหรืออุบัติภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในสายงานการผลิต บริษัทฯมีการบริหารจัดการและวางแผนอัตรากำลังคนโดยใช้การวิเคราะห์ความอ่อนไหวด้วยแบบจำลองประกอบการพิจารณา พบว่า การลดลงของอัตราแรงงานในระดับต่ำจากสถานการณ์ปกติ ไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและผลการดำเนินงาน และการลดลงของอัตราแรงงานที่ระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญและเกินจุดระดับความเสี่ยงที่บริษัทฯยอมรับได้ (Risk Appetite) นำไปสู่ความจำเป็นต่อการเพิ่มปริมาณการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนภายนอก แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการกำหนดกลยุทธ์ในการวางแผนบริหารจัดการอัตรากำลังคน การเพิ่มศักยภาพของแรงงานและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตเพื่อทดแทนอัตรากำลังคนที่อาจหายไปจากสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งจัดเตรียมแผนกอบกู้ฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว